วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เรื่องผิวๆ ที่ไม่ควรมองข้าม


เรื่องผิว ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม



1. ความสำคัญของน้ำต่อผิวหนัง

           น้ำ มีความสำคัญต่อผิวหนังอย่างมาก โดยเป็นตัวที่ช่วยให้ผิวมีความนุ่มเนียน และคงความยืดหยุ่นของผิวไว้ นอกจากนี้ ในกระบวนการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกนั้น เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวต้องอาศัยน้ำในการทำงาน ดังนั้นถ้าปริมาณน้ำในผิวลดลงอาจทำให้กระบวนการนี้ผิดปกติและเกิดเป็นขุย หรือสะเก็ดปกคลุมผิวหนังได้

                                     2. กลไกการรักษาน้ำตามธรรมชาติของผิว

           ผิวหนังชั้นนอกสุด (stratum corneum) หรือที่เรียกว่า "ชั้นขี้ไคล" ทำหน้าที่หลักในการรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิว ผิวหนังชั้นนี้จะประกอบด้วยเซลล์ผิวหนังที่ไม่มีชีวิตเรียงตัวกันเป็นชั้นหนาประมาณ 10 - 20 ชั้น

           ภายในเซลล์เหล่านี้จะมีสารจำพวกโปรตีนที่เรียกว่า เคอราติน (keratin) และ Natural Moisturizing Factors (NMF) ซึ่ง มีคุณสมบัติในการซึมซับอุ้มน้ำได้มาก และเป็นตัวช่วยเก็บกักน้ำไว้ในผิว ระหว่างเซลล์จะมีไขมันแทรกอยู่เป็นชั้นๆ ทำหน้าที่อุดกั้นไม่ให้น้ำสามารถผ่านออกจากเซลล์เหล่านี้ไปยังสิ่งแวดล้อม ภายนอก นอกจากนี้ต่อมไขมันที่ผิวหนังจะสร้างสารไขมันหลั่งออกตามรูขุมขน สารไขมันจะแผ่อออกเคลือบผิวของชั้นหนังกำพร้า ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นมากขึ้นอีกด้วย

           ปกติคนเราควรมีปริมาณน้ำในผิวหนัง 20 - 35% ถ้าปริมาณน้ำลดลงน้อยกว่า 10% จะเกิดภาวะผิวแห้งขึ้น โดยผิวจะมีความยืดหยุ่นลดลงและลักษณะหยาบ เป็นขุย ถ้าแห้งมากอาจแตกเป็นร่อง แดง คัน และเกิดผื่นผิวหนังอักเสบตามมาได้ในที่สุด

3. ปัจจัยที่มีผลต่อความชุ่มชื้นของผิวหนัง

          1. พันธุกรรม ลักษณะผิวหนังของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นกับพันธุกรรมของแต่ละคนว่ามี ลักษณะผิว อย่างไร นอกจากนี้โรคทางผิวหนังหลายชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะทำให้มีผิวแห้งกว่าคนปกติ

          2. สภาวะแวดล้อม สภาวะแวดล้อมรอบตัวเรามีอิทธิพลต่อการเกิดผิวแห้งอย่างมาก ในประเทศไทยมีความชื้นในบรรยากาศสูง ทำให้อุบัติการณ์โรคผิวหนังไม่สูงเหมือนอย่างในประเทศแถบตะวันตก อย่างไรก็ตามควรระวังในฤดูหนาว เนื่องจากอากาศเย็นและความชื้นในบรรยากาศจะลดลงมากจนทำให้การสูญเสียน้ำออกจากผิวหนังเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ผิวหนังอักเสบจากความแห้งคัน  

          3. อายุ เมื่อคนเราอายุมากขึ้น กลไกธรรมชาติที่ผิวหนังรักษาความชุ่มชื้นไว้จะลดน้อยลง ต่อมไขมันและเซลล์ผิวหนังจะสร้างสารไขมันลดลง เราจึงมักเห็นผิวแห้งเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย โดยเฉพาะสตรีวัยทอง ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไป

          4. พฤติกรรมและการดำเนินชีวิต ผู้ที่ชอบล้างมือบ่อย ๆ ฟอกตัวด้วยสบู่ที่เป็นด่างนาน ออกแดดประจำ หรือทำงานกลางแจ้ง ทั้งสารเคมี แสงแดด ลม ความชื้นในบรรยากาศจะมีอิทธิพลต่อการเสียน้ำออกจากผิวหนัง จนทำให้เกิดภาวะผิวหนังแห้ง

           นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก ที่มีผลกระทบต่อความชุ่มชื้นผิวหนัง เช่น ระดับฮอร์โมน ยา ภาวะโภชนาการบกพร่อง ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดผิวแห้ง โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยต้นเหตุดังกล่าว โดยสวมถุงมือ เสื้อผ้าให้มิดชิด และทาครีมหรือโลชั่นเคลือบผิวที่เรียกว่า มอยส์เจอร์ไรเซอร์

4. รู้จักมอยส์เจอร์ไรเซอร์

           มอยส์เจอร์ไรเซอร์ (Moisturizer) คือ สารทาภายนอกที่สามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังได้ อาจมีอยู่หลายรูป เช่น ครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง เป็นต้น ส่วนประกอบของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ มีดังนี้

          1. สารปิดกั้นไม่ให้น้ำซึมผ่าน (Occlusive) ออก ฤทธิ์โดยปิดกั้นไม่ให้น้ำซึมผ่าน เมื่อทาลงบนผิวหนังจะกระจายตัวออกคลุมผิวหนังเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ กันไม่ให้น้ำภายในผิวหนังซึมออกสู่ภายนอก ทำหน้าที่คล้ายเกราะอ่อนป้องกันสารเคมีไม่ให้ระคายผิวหนัง

แต่ถ้าล้างหรือฟอกผิวหนังบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือดีเทอร์เจน หรือการถู เช็ดกับผ้าจะทำให้มอยส์เจอร์ไรเซอร์หลุดออกจากผิวหนัง อาจต้องทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ซ้ำหลายครั้งต่อวัน ตามสภาพการดำเนินชีวิตประจำวัน สารกลุ่มนี้ ได้แก่ petrolatum, lanolin, dimethicone เป็นต้น

          2. สารที่ช่วยดูดซับน้ำ (Humectant) มอยส์เจอร์ไรเซอร์กลุ่มนี้เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังโดยการจับน้ำในผิวหนังไว้ไม่ให้ระเหยไป สารกลุ่มนี้ได้แก่ latic acid, polyol, mucopolysaccharide, urea, glycerol, เป็นต้น สารกลุ่มนี้เมื่อทาบนผิวหนัง อาจระคายผิวหนังได้ ทำให้รู้สึกยิบ ๆ จึงควรระมัดระวังโดยเฉพาะผิวหนังที่มีการอักเสบอยู่

          3. สารออกฤทธิ์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งผสมในมอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อให้มีคุณสมบัติอื่นเพิ่มมากขึ้นจากการให้ ความชุ่มชื้นเพียงอย่างเดียว ที่นิยมได้แก่ สารกันแดด สารกลุ่มAHA ซึ่งช่วยผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกให้เร็วขึ้น สารที่ช่วยให้ผิวขาวขึ้น เช่น วิตามิน C, E, Niacinamide เป็นต้น

           มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ดีควรมีคุณสมบัติ คือ สามารถลดการสูญเสียน้ำจากผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผิวชุ่มชื้นเรียบเนียนขึ้น ดูดซึมเร็ว ออกฤทธิ์ทันที และอยู่ได้นานบนผิวหนังโดยไม่ต้องทาซ้ำหลายครั้ง ไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคือง และมีราคาไม่แพง

5. เลือกซื้อมอยส์เจอร์ไรเซอร์อย่างไร

          1. ดูลักษณะผิวของตนเอง จะรู้ว่าตนเองมีผิวประเภทใด ก็โดยทดลองทามอยส์เจอร์ไรเซอร์นั้นที่ผิวหนัง ถ้าผิวหนังเป็นมันวาวมาก แสดงว่าคุณมีผิวมัน ผู้ที่มีผิวมัน อาจเลือกมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีความมันน้อย

         2. ดูฤดูกาล เช่น ในฤดูหนาวความชื้นในบรรยากาศน้อย ควรเลือกมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีความมันมาก

          3. ดูภูมิประเทศ ถ้าอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศทางตะวันออกที่มีความชื้นในบรรยากาศสูง อาจไม่จำเป็นต้องใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์

          4. พิจารณาจากรูปแบบและส่วนประกอบของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ว่ามีน้ำมันมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่อยู่ในรูปของน้ำมัน และครีมจะให้ความชุ่มชื้นมากกว่าโลชั่น

         5. พิจารณาเรื่องกลิ่น เพราะมอยส์เจอร์ไรเซอร์มักมีเครื่องหอมผสมอยู่ด้วยเพื่อให้น่าใช้ แต่อาจเป็นสาเหตุของการแพ้ได้

          6. ดูราคา ในภาวะเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับฐานะ

         7. ทดลองใช้ดู จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย แนะนำว่าควรทดลองใช้ในบริเวณเล็ก ๆ ก่อน เช่น ทาที่ต้นแขนด้านใน วันละ 1 - 2 ครั้ง นาน 7 วัน ถ้าไม่มีผื่นแพ้เกิดขึ้น จึงใช้กับผิวหนังทั่วร่างกายได้

6.ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์อย่างได้ผล
           ควรทามอยส์เจอร์ไรเซอร์หลังทำความสะอาดผิวหรืออาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ เนื่องจากเป็นช่วงที่สารจะซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดี ทาให้ทั่วผิวหนังที่ต้องการเคลือบ ใช้นิ้วมือคลึงเบา ๆ ให้เนื้อครีมกระจายออกทั่วผิวหนัง ในกรณีที่ผิวหนังมีการอักเสบร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง



แหล่งอ้างอิง : http://women.kapook.com/view5304.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น